วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เข็ม




กล้วยไม้สกุลเข็มได้สมญาว่าเป็น “ราชินีของกล้วยไม้แวนด้าแบบมินิหรือแบบกระเป๋า” เพราะเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเล็กทั้งขนาดต้น ช่อดอก ขนาดดอก และมีดอกที่มีสีสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้อื่นๆ ในธรรมชาติพบกล้วยไม้สกุลนี้กระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลงไปถึงอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง สกุลแวนด้า สกุลกุหลาบ มีลำต้นสั้น ใบเรียงแบบซ้อนทับกัน รากเป็นระบบรากอากาศ ออกดอกตามข้อของลำต้นระหว่างใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้าที่มีดอกขนาดเล็ก ในประเทศไทยมีกล้วยไม้สกุลเข็มแท้อยู่ 4 ชนิดคือ เข็มแสด เข็มแดง เข็มม่วง และเข็มหนู แต่ที่มีบทบาทสำคัญในการผสมปรับปรุงพันธุ์ คือ เข็มแดง เข็มแสด และเข็มม่วง




เข็มแดงAscocentrum curvifoliumพบกระจายพันธุ์ในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย มาทางประเทศพม่า จนถึงประเทศไทย แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และ กาญจนบุรี ที่ระดับความสูง 100-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใบมีสีเขียวอ่อน ค่อนข้างอวบน้ำ ใบแคบ โค้ง เรียว ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ในฤดูแล้งขอบใบจะปรากฏจุดสีม่วงประปรายและจะหนาแน่ขึ้นเมื่อแล้งเพิ่มมากขึ้น ดอกสีแดงอมส้ม ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร ช่อดอกรูปทรงกระบอก ตั้งตรง แข็ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ดอกแน่นช่อ บานทนนับเป็นสัปดาห์ ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม


เข็มแสดAscocentrum miniatumพบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งในลักษณะภูมิประเทศที่ราบและที่เป็นภูเขา จึงสามารถปลูกเลี้ยงได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย เข็มแสดมีลำต้นไม่สูงนัก ใบเรียงซ้อนกันแน่น ใบอวบหนา ปลายใบเป็นฟันแหลม และโค้งเล็กน้อย ใบสีเขียวแก่ และอาจมีสีม่วงบ้างเล็กน้อย เมื่อมีสภาพอากาศแห้งแล้ง ใบยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกมีกลีบหนา ผิวกลีบเป็นมันสีส้มหรือสีเหลืองส้ม ขนาดดอกโตประมาณ 1–1.5 เซนติเมตร ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกแน่นช่อ ช่อหนึ่งอาจมีมากกว่า 50 ดอก ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม






เข็มม่วงAscocentrum ampullaceumพบตามธรรมชาติในประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และต่ำลงไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี ที่ระดับความสูงกว่าเข็มแดง เข็มม่วงมีลำต้นตั้งแข็ง ใบแบนกว้าง ปลายตัดและมีฟันแหลมๆ ไม่เท่ากันทลายฟัน ใบยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใบสีเขียวคล้ำ ในฤดูแล้งใบจะมีจุดสีม่วงเล็กน้อย ดอกสีม่วงแดง ก้านดอกสั้นเป็นสีเดียวกับดอก เดือยดอกยาวดอกโตประมาณ 2 เซนติเมตร ช่อดอกตั้งตรงรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ดอกแน่น ช่อหนึ่งมีประมาณ 30 ดอก มักออกดอกบริเวณส่วนล่างของลำต้น ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ดอกบานทนประมาณ 2 สัปดาห์






เข็มหนูAscocentrum semiteretifoliumเป็นกล้วยไม้ที่มีใบเป็นแบบใบกลม มีร่องลึกทางด้านบนของใบ ใบกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร มีดอกสีม่วงอ่อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ระดับความสูง 1,800-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างหายาก ลักษณะของต้นและดอกไม่เป็นที่นิยมของนักปลูกเลี้ยง







กล้วยไม้สกุลเข็มเป็นกล้วยไม้ที่ดอกมีสีสันสดใส มีช่อดอกแข็งชูตั้งขึ้นเป็นรูปทรงกระบอก ดอกแน่นเป็นระเบียบ สามารถให้ดอกพร้อมกันได้หลายช่อ ปลูกเลี้ยงง่าย จึงนิยมนำกล้วยไม้สกุลเข็ม (Ascocentrum) ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลแวนด้า (Vanda) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมแอสโคเซ็นด้า (Ascocenda) ซึ่งจะทำให้ได้กล้วยไม้ที่มีสวยงามขึ้น ออกดอกดกขึ้น ดอกบานทนและปลูกเลี้ยงง่ายขึ้น

แวนด้า


แวนด้าเป็นกล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดี้ยล ไม่แตกกอ เจริญเติบโตไปทางยอด รากเป็นรากอากาศ ใบมีลักษณะกลม แบนหรือร่อง ใบซ้อนสลับกัน ช่อดอกจะออกด้านข้างของลำต้นสลับกับใบ ช่อดอกยาวและแข็ง กลีบนอกและกลีบในมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน โคนกลีบแคบ และไปรวมกันที่โคนเส้าเกสร กลีบดอกในล่างด้านใต้มีเดือยแหลมยื่นออกมาเป็นส่วนท้ายของปากกระเป๋า ปากกระเป๋าของแวนด้าเป็นแบบธรรมดาแบนเป็นแผ่นหนาแข็ง และพุ่งออกด้านหน้า รูปลักษณะคล้ายช้อน หูกระเป๋าทั้งสองข้างแข็งและตั้งขึ้น สีดอกมีมากมายแตกต่างกันตามแต่ละชนิด กล้วยไม้สกุลแวนด้าพบในป่าตามธรรมชาติประมาณ 40 ชนิด มีกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเซีย ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย อินโดนีเซีย จนถึงฟิลิปปินส์ แวนด้าได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นอีกหลายพันธุ์ ปัจจุบันได้มีการจำแนกประเภทของแวนด้า โดยอาศัยรูปร่างลักษณะของใบออกเป็น 4 ประเภท คือ



แวนด้าฮุกเคอเรียน่าVanda hookerriana

เป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของประเทศไทย จัดเป็นแวนด้าใบกลมพันธุ์แท้ ลักษณะลำต้นกลม ใบกลมคล้ายแวนด้าเอื้องโมกข์ แต่ใบเล็กแหลมปลายตัดขนาดลำต้นสูงตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป ช่อดอกออกใกล้ยอด ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ออกดอกตั้งแต่ 3–5 ดอกต่อช่อ กลีบนอกบนสีขาวอมม่วงเป็นรูปไข่กลับ กลีบดอกคู่ล่างสีขาวล้วน กลีบในรูปไข่ขอบหยักสีขาวเหลือบม่วงประจุดสีม่วงแก่ ปาก 3 แฉกสีม่วงมีเส้นสีอ่อน เส้าเกสรกลมสีม่วง ดอกใหญ่ขนาดประมาณ 7 เซนติเมตร



ฟ้ามุ่ยVanda coerulea

เป็นกล้วยไม้แวนด้าใบแบนที่มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือของไทย ลักษณะของใบค่อนข้างกว้างกว่าใบของแวนด้าชนิดอื่น ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้าง 2.5 เซนติเมตร ใบซ้อนเรียงสลับกัน ช่อดอกตั้งตรงยาวประมาณ 20–50 เซนติเมตร ออกดอก 5–15 ดอก ดอกสีฟ้าอ่อนจึงถึงฟ้าแก่ มีลายเป็นตารางสีฟ้าแก่กว่าสีพื้น ปากเล็กหูปากแคบโค้ง ปลายมนที่ปลายมี 2 ติ่ง เส้าเกสรเบื้องบนสีขาว ขนาดดอกใหญ่ประมาณ 7–10 เซนติเมตร ดอกขนาดใหญ่และบานทนนาน ออกดอกเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม




เอื้องสามปอยขาวVanda denisoniana

เอื้องสามปอยขาวเป็นกล้วยไม้แวนด้าใบแบน มีลักษณะใบซ้อนแบบฟ้ามุ่ย แต่ใบบางและยาวกว่า ก้านช่อยาว ดอกมีสีขาว ปากใหญ่สีขาว ในปากเป็นสีเหลือง กลีบดอกนอกและกลีบในมีรูปร่างลักษณะเหมือนกัน










เอื้องสามปอยชมพูVanda bensoni

เป็นกล้วยไม้แวนด้าใบแบน มีลักษณะใบซ้อนเรียงสลับกัน ช่อดอกตั้งและยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมี 13–15 ดอก ดอกสีน้ำตาล มีลายสมุกคล้ายฟ้ามุ่ย กลีบดอกหนาขอบกลีบเป็นคลื่น ด้านหลังกลีบและกระเป๋าเป็นสีชมพู ดอกห่าง รูปดอกโปร่ง ขนาด 4.4 เซนติเมตร







เอื้องสามปอยขุนตาลVanda denisoniana

เป็นกล้วยไม้แวนด้าใบแบน มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ช่อดอกออกด้านข้างไม่ตั้งตรง ช่อดอกสั้น มีดอกประมาณ 5–7 ดอกต่อช่อ รูปดอกโปร่ง กลีบดอกหนาแข็ง ไม่ค่อยซ้อน ดอกมีสีเหลือง บางต้นสีเหลืองเข้ม บางชนิดมีประจุดสีน้ำตาลอยู่ที่โคนกลีบ กลีบหนาแข็งคล้ายดอกไม้เทียน ดอกขนาด 6-7 เซนติเมตร ออกดอกเดือนกันยายน-พฤศจิกายน








เอื้องสามปอยหลวงVanda benbonii

เป็นกล้วยไม้แวนด้าใบแบน มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะคล้ายกับสามปอยชมพู มีใบกว้างและยาวกว่าเล็กน้อย ดอกช่อหนึ่งมีประมาณ 10 ดอก ดอกมีกลีบนอกและกลีบในมีสีขาวอมเหลืองกลีบดอกห่าง หูปากทั้งสองข้างสีขาวแผ่นปากสีเขียวเหลือบเหลือง ปากเว้าเดือยสั้น รูปดอกใหญ่ขนาดดอกโตประมาณ 7 เซนติเมตร ออกดอกเดือนมีนาคม-พฤษภาคม










เข็มขาวVanda lilacina

เป็นกล้วยไม้แวนด้าใบแบน มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคกลางตอนบน ใบรูปแถบเรียงสลับ ปลายใบหยักเป็นฟัน ออกดอกที่ข้างลำต้น มีหลายช่อ ยาว 12-15 ซม. ช่อดอกค่อนข้างโปร่ง ดอกขนาด 1.5-2 ซม. กลีบดอกสีขาวรูปแถบแกมรูปไข่กลับ กลีบปากมีลักษณะเป็นถุงขนาดเล็ก ปลายแผ่เป็นแผ่นสั้นผายออก มีจุดขนาดเล็กสีม่วงหนาแน่น ปลายเส้าเกสรสีเหลือง ออกดอกเดือนมกราคม-เมษายน

แคทลียา



แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เนื่องจากแคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่มีดอกขนาดใหญ่ที่สุดและสีสวยงามที่สุด บางชนิดมีกลิ่นหอม และถือกันว่าแคทลียาเป็น ราชินีแห่งกล้วยไม้ และเป็นสัญญลักษณ์สากลของกล้วยไม้ทั่วไปแคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ตอนเหนือ เป็นกล้วยไม้ที่เจริญเติบโตและมีรูปทรงแบบซิมโพเดี้ยล คือมีเหง้าแนบไปตามเครื่องปลูก เหง้าอาจจะมีทั้งยาวและสั้น มีรากงอกเจริญจากเหง้า ไม่มีรากแขนง เป็นระบบรากกึ่งอากาศดูดอาหารจากอากาศและเครื่องปลูก แคทลียาเป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วย มีหลายลักษณะ บางชนิดลำลูกกล้วยเป็นข้อปล้อง รูปทรงของลำป่องตรงกลางหรือค่อนไปข้างบนของลำเล็กน้อย มีหน้าที่เก็บสะสมอาหาร เหนือข้อที่โคนลำจะมีตา 2 ตา คือตาซ้าย และตาขวา เป็นตาแตกลำใหม่ง่ายที่สุด บางชนิดที่ลำลูกกล้วยอ้วนป้อม บางชนิดเป็นรูปทรงกระบอกหรือบิดเป็นเกลียวเล็กน้อย ผิวพื้นของลำอาจเกลี้ยงหรือเป็นร่องตามความยาวของลำ เมื่อกล้วยไม้เจริญเติบโต ลำที่ 1 หรือเรียกว่าลำหลัง จะแตกตาออกแล้วเจริญเป็นลำที่ 2 หรือเรียกว่าลำหน้า เมื่อลำที่ 2 เจริญดีแล้วก็จะแตกตาออกเป็นลำที่ 3 และที่ 4 ออกไปเรื่อยๆ บางครั้งตาแตกออกเป็น 2 ทางเรียกว่า ไม้ 2 หน้า จึงทำให้ดูเป็นกอใหญ่ โดยมีเหง้าเป็นส่วนที่เชื่อมโยงของลำลูกกล้วยลำต่อลำ และเป็นส่วนของลำที่เจริญออกจากลำเดิม


แคทลียาลูกผสม 2 สกุล


เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากกล้วยไม้สกุลแคทลียาแท้ผสมกับกล้วยไม้สกุลต่างๆ เกิดเป็นแคทลียาลูกผสม 2 สกุล เช่น
ลีลิโอแคทลียา (Laeliocattleya) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากสกุลแคทลียาผสมข้ามสกุลกับลีเลีย
บรัสโซแคทลียา (Brassocattleya) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากสกุลแคทลียาผสมข้ามสกุลกับบรัสซาโวลา
โซโฟรแคทลียา (Sophrocattleya) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากสกุลแคทลียาผสมข้ามสกุลกับโซโฟรไนตีส
เอพิแคทลียา (Epicattleya) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากสกุลแคทลียาผสมข้ามสกุลกับเอพิเดนดรัม
ชอมบูแคทลียา (Schombocattleya) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากสกุลแคทลียาผสมข้ามสกุลกับชอมบูเกีย



แคทลียาลูกผสม 3 สกุล




เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากกล้วยไม้แคทลียาลูกผสมที่ผสมแล้ว 2 สกุลผสมข้ามกับอีกสกุลหนี่ง เกิดเป็นแคทลียาลูกผสม 3 สกุล เช่น
บรัสโซลีลิโอแคทลียา (Brassolaeliocattleya) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากกล้วยไม้บรัสโซแคทลียาผสมกับกล้วยไม้สกุลลีเลีย (สกุลแคทลียาผสมกับสกุลบรัสซาโวลาผสมกับสกุลลีเลีย)
เอพิลีลิโอแคทลียา (Epilaeliocattleya) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากกล้วยไม้ลีลิโอแคทลียาผสมกับกล้วยไม้สกุลเอพิเดนดรัม (สกุลแคทลียาผสมกับสกุลลีเลียผสมกับสกุลเอพิเดนดรัม)
เอพิคาโทเนีย (Epicatonia) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากกล้วยไม้เอพิแคทลียาผสมกับกล้วยไม้สกุลสกุลบรัสซาโวลา (สกุลแคทลียาผสมกับสกุลเอพิเดนดรัมผสมกับสกุลบรัสซาโวลา)
ดีเคนสารา (Dekensara) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากกล้วยไม้บรัสโซแคทลียาผสมกับกล้วยไม้สกุลชอมบูเกีย (สกุลแคทลียาผสมกับสกุลบรัสซาโวลาผสมกับสกุลชอมบูเกีย)

แคทลียาลูกผสม 4 สกุล


เป็นกล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดจากกล้วยไม้แคทลียาลูกผสมที่ผสมแล้ว 3 สกุลกับอีกสกุลหนึ่งเกิดเป็นแคทลียาลูกผสม 4 สกุล เช่น
ยามาดารา (Yamadara) เป็นลูกผสมกล้วยไม้ที่เกิดจากกล้วยไม้บรัสโซเลลิโอแคทลียาผสมข้ามกับสกุลเอพิเดนดรัม
โพตินารา (Potinara) เป็นลูกผสมกล้วยไม้ที่เกิดจากกล้วยไม้บรัสโซเลลิโอแคทลียาผสมข้ามกับสกุลโซโฟรไนตีส

รองเท้านารี

กล้วยไม้รองเท้านารี (Lady’s Slipper) เป็นกล้วยไม้สกุล Paphiopedilum มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายชื่อ เช่น รองเท้านาง รองเท้าแตะนารี หรือ บุหงากะสุต ในภาษามาเลเซีย อันหมายถึงรองเท้าของสตรี เนื่องจากกลีบดอก หรือที่เรียกว่า “กระเป๋า” มีรูปร่างคล้ายกับรองเท้าของสตรีและรองเท้าไม้ของชาวเนเธอแลนด์ กระเป๋าของรองเท้านารีมีรูปร่างลักษณะและสีสรรแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น และเขตร้อนแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินเดีย ฟิลิปปินส์ พม่า มาเลเซีย และในประเทศไทยซึ่งพบกล้วยไม้รองเท้านารีขึ้นอยู่ในป่าทั่วๆ ไป บางชนิดเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดินหรือซอกหินที่มีต้นไม้ใบหญ้าเน่าตายทับถมกัน เจริญงอกงามในที่โปร่ง ไม่ชอบที่รกทึบ แสงแดดส่องถึงรองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอเช่นเดียวกับ หวาย คัทลียา และซิมบิเดียม ต้นที่แท้จริงเรียกว่า ไรโซม (เหง้า) ต้นหนึ่งหรือกอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น รากออกเป็นกระจุกที่โคนต้นและมักจะทอดไปทางด้านราบมากกว่าหยั่งลึกลงไป หน่อใหม่จะแตกจากตาที่โคนต้นเก่า มีลำต้นสั้นมาก แต่ไม่มีลำลูกกล้วย ใบมีขนาดรูปร่างต่างกันไป บางชนิดมีใบยาว บางชนิดใบตั้งชูขึ้น บางชนิดใบทอดขนานกับพื้น บางชนิดใบมีลาย บางชนิดใบไม่มีลายแต่เป็นสีเดียวเรียบๆ การออกดอกจะออกที่ยอด มีทั้งชนิดออกดอกเป็นดอกเดี่ยว และออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกชั้นนอกกลีบบนมีขนาดใหญ่สะดุดตา ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะเชื่อมติดกันและมีขนาดเล็กลงจนส่วนปากบังมิดหรือเกือบมิด กลีบคู่ในซึ่งมีลักษณะเหมือนกันกางออกไปทั้ง 2 ข้างซ้ายขวาของดอก ส่วนกลีบในกลีบที่ 3 จะเปลี่ยนเป็น “กระเปาะ” คล้ายรูปรองเท้า กระเปาะนี้มีหน้าที่รับน้ำฝนตกลงไปเพื่อชะล้างเกสรตัวผู้ไปตัดกับแผ่นเกสรตัวเมีย กล้วยไม้สกุลนี้จะมีทั้งเกสรตัวผุ้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่จะมีเส้าเกสรแตกต่างจากกล้วยไม้ทั่วๆ ไป คือ ที่ปลายสุดของเส้าเกสร แทนที่จะเป็นอับเรณูกลับเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งทางพฤษศาสตร์ถือเป็นเกสรที่เปลี่ยนรูปร่างไปใช้การไม่ได้ เรียกส่วนนี้ว่า “สตามิโนด” สำหรับเกสรตัวผู้ที่ใช้การได้มีอยู่ 2 ชุด โดยจะอยู่ถัดต่ำลงมาทั้ง 2 ข้างของเส้าเกสรข้างละ 1 ชุด ในแต่ละชุดจะมีอับเรณูลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ 2 อัน ถัดต่ำลงมาจากส่วนนี้อีกจะเป็นยอดเกสรตัวเมียซึ่งเป็นแอ่งลึกลงไปยึดติดกับเส้าเกสร (ปกติส่วนนี้จะถูกหูกระเป๋าโอบหุ้มเอาไว้จนมิด) ภายในมีน้ำเมือกเหนียวสำหรับยืดเกสรตัวผู้ที่ตกลงไปในแอ่ง รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก ภายในรังไข่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นไข่อ่อน จนกระทั่งผสมเกสรแล้วจึงเกิดไข่อ่อนในรังไข่ รังไข่จะกลายเป็นฝักเมื่อฝักแก่จะแตกเมล็ดสามารถเจริญงอกงามเป็นต้ใหม่ได้โดยธรรมชาติของกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีทุกชนิด เมื่อออกดอกแล้วก็จะตายไป แต่ก่อนตายจะแตกหน่อทดแทน ซึ่งหน่อนี้ก็จะเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ต่อไป ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้รองเท้านารี ที่สำรวจพบ ได้แก่




รองเท้านารีอ่างทองPaphiopedilum angthongถิ่นกำเนิดอยู่ตามหมู่เกาะบริเวณอ่าวไทย เช่น หมู่เกาะอ่างทอง เกาะสมุย เป็นต้น ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ ปลายใบมน ด้านบนสีเขียวคล้ำประลาย ด้านใต้ท้องใบสีม่วงแก่ ก้านดอกยาวมีขน ดอกค่อนข้างเล็กขนาดไม่สม่ำเสมอ การประจุดกระจายจากโคนกลีบ พื้นกลีบดอกสีขาว กลีบค่อนข้างหนา







รองเท้านารีเหลืองตรังPaphiopedilum godefroyaeค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2419 ขึ้นตามโขดหิน ถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเกาะรัง จังหวัดชุมพร ลักษณะเด่น คือ ใบลาย ท้องใบสีม่วง ปลายมนคล้ายรูปลิ้น ก้านดอกสีม่วงมีขน ดอกโตสีครีมเหลือง กลีบนอกบนรูปกลม ปลายยอดแหลมเล็กน้อย กลีบในสองข้างกลมรี ปลายกลีบเว้า ประจุดลายสีน้ำตาลจางตรงโคนกลีบแล้วค่อยจางออกตอนปลาย ปากกระเปาะขาวไม่มีลาย







รองเท้านารีเมืองกาญจน์Paphiopedilum parishiiค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2402 ถิ่นกำเนิดอยู่แถบจังหวัดกาญจบุรีและกำแพงเพชร เป็นกล้วยไม้อากาศเกาะอยู่ตามต้นไม้มีลักษณะเด่น คือ มีกลีบในคู่บิดเป็นเกลียวเป็นสายยาวกว่ากลีบนอกประมาณสามเท่าตัว







รองเท้านารีเหลืองปราจีนPaphiopedilum concolorค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2402 มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีใบลาย ท้องใบสีม่วง ก้านดอกยาวมีขน อาจมี 2–3 ดอกบนก้านเดียวกันได้ กลีบดอกด้านบนผายออกคล้ายพัด ปลายมนสูง กลีบในกางพอประมาณ เมื่อดอกบานจะคุ้มมาข้างหน้าแลดูคล้ายดอกบานไม่เต็มที่ พื้นดอกสีเหลืองอ่อน มีประจุดเล็กๆ สีม่วงประปราย กระเปาะสีเดียวกับกลีบดอก ปลายกระเปาะค่อนข้างเรียวแหลมและงอนปลายเส้าเกสรเป็นแผ่นใหญ่



รองเท้านารีอินทนนท์Paphiopedilum villosumเป็นพันธุ์กล้วยไม้ที่พบเมื่อ พ.ศ. 2396 มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณแถบที่มีอากาศชื้นและอุณหภูมิต่ำ เช่น ดอยอินทนนท์ และภูเขาสูง ลักษณะของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีใบสีเขียวสม่ำเสมอทั้งใบ ไม่มีลาย โคนใบส่วนใกล้กับเหง้ามีจุดสีม่วงประปราย และค่อยๆ จางหายตรงส่วนปลายใบ ใบยาวบางและอ่อน เป็นรองเท้านารีที่มีเกสรตัวผู้ต่างจากชนิดอื่นคือ เกสรตัวผู้จับตัวรวมเป็นก้อนแข็งค่อนข้างใส มีสีเหลืองไม่เป็นยางเหนียว





ช้าง

ช้างRhynchostylis gigantea กล้วยไม้ช้างมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พม่า ทางตอนใต้ของจีน ประเทศในแถบอินโดจีน อินโดนีเซีย และหมู่เกาะทะเลจีนใต้ สำหรับในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในแถบภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น หนองคา มุกดาหาร สกลนคร เลย นครราชสีมา ต่ำลงมาจนถึงตอนเหนือของภาคกลาง เช่น นครสวรรค์ ชัยนาท และภาคตะวันออก เช่น ปราจีนบุรี และแถบจังหวัดกาญจนบุรี พบขึ้นกระจายทั่วไปในป่าที่มีระดับความสูงประมาณ 260-350 เมตรจากระดับน้ำทะเล
กล้วยไม้ช้างมีรูปร่างใหญ่โตกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นๆ ในสกุลเดียวกัน ใบหนา แข็ง ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร กว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ปลายใบเป็นแฉก 2 แฉก มน และสองแฉกของใบไม่เท่ากัน รากเป็นรากอากาศ มีขนาดใหญ่ ปลายรากมีสีเขียว ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอกโค้งลง ช่อดอกยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ช่อละ 25-60 ดอก ขนาดดอกประมาณ 2.5-3.0 เซนติเมตร กลีบนอกคู่ล่างกว้างยาวพอๆ กันกับกลีบนอกบน ส่วนกลีบในเรียวกว่ากลีบนอก เดือยดอกอยู่ในลักษณะเหยียดตรงไปข้างหน้า ปลายแผ่นปากหนา แข็งและปลายสองข้างเบนเข้าหากัน ปลายปากมี 3 แฉก สองแฉกข้างมน แฉกกลางมนและมีขนาดเล็กกว่ามาก ใกล้โคนปากด้านบนมีสันนูนเตี้ยๆ 2 สัน ดอกมีกลิ่นหอมฉุน หอมไกล ดอกบานในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และบานทนได้ประมาณสองหรือสามสัปดาห์ ช้างแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะสีของดอก คือ ช้างกระ ช้างแดง และช้างเผือก ทั้งสามประเภทเป็นพันธุ์แท้พันธุ์เดียวกัน มีลักษณะลำต้น ใบ ราก ช่อดอก และดอกคล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันตรงที่สีของดอก คือช้างกระมีดอกสีขาวประด้วยจุดสีม่วงแดง ช้างแดงดอกมีสีม่วงแดงทั้งดอกหรือเกือบทั้งดอก และช้างเผือกมีดอกสีขาวล้วน นอกจากนี้ยังมี ช้างประหลาด ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างช้างแดงกับช้างกระ สีของดอกมีจุดสีม่วงแดงใหญ่กว่าช้างกระ บางต้นจุดสีมีขนาดใหญ่จนเกือบเต็มกลีบดอก คล้ายกับสีของดอกช้างแดง แต่ยังมีสีขาวของพื้นกลีบดอกเหลืออยู่









ไอยเรศหรือพวงมาลัย Rhynchostylis retusa
ไอยเรศเป็นกล้วยไม้ป่าพันธุ์แท้ที่มีถิ่นกำเนิดกระจายไปทั่วประเทศไทยและในประเทศศรีลังกา เนปาล ภูฎาน พม่า จีน ประเทศแถบอินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และหมู่เกาะบอร์เนียว ในประเทศไทยพบในป่าที่มีระดับความสูงตั้งแต่ประมาณ 150-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ไอยเรศมีลำต้นใหญ่แข็งแรงคล้ายกล้วยไม้ช้าง แต่ใบยาวกว่าและแคบกว่า ใบยาวประมาณ 40 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร มีทางสีเขียวแก่สลับกับสีเขียวอ่อนตามความยาวของใบคล้ายกล้วยไม้ช้าง ปลายใบมีลักษณะเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก โค้งห้อยลง ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ก้านช่อยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร มีดอกแน่นช่อ ในหนึ่งช่อมีดอกประมาณ 150 ดอก มากกว่ากล้วยไม้ช้าง รูปร่างลักษณะของช่อดอกที่ยาวเป็นรูปทรงกระบอกคล้ายกับลักษณะของพวงมาลัย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พวงมาลัย” ต้นใหญ่ๆ มักจะแตกหน่อที่โคนต้น เกิดเป็นกอใหญ่ขึ้นได้ ดอกขนาดมีขนาดประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร สีพื้นของกลีบนอกและกลีบในของดอกเป็นสีขาว มีจุดสีม่วงประปราย เดือยดอกมีสีม่วงอ่อน แผ่นปากมีลักษณะโค้งขึ้นบนแล้วยื่นไปข้างหน้า มีแต้มสีม่วงตรงกลางแผ่นปากส่วนโคนและปลายสุดแผ่นปากเป็นสีขาว ปลายแผ่นปากเว้า เส้าเกสรเห็นชัด ออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ดอกจะบานอยู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ไอยเรศที่มีดอกสีขาว ไม่มีสีม่วงปะปนอยู่เลย เรียก "ไอยเรศเผือก" ซึ่งหาได้ยาก ไอยเรศปลูกเลี้ยงได้ง่าย ให้ดอกทุกปี และชอบแสงแดดมากกว่ากล้วยไม้ช้าง การปลูกอาจเกาะไว้กับกิ่งไม้หรือท่อนไม้ ไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดด หรือจะปลูกลงกระเช้าไม้ แขวนไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดเพียงพอ ควรให้ได้รับแสงแดดมากกว่ากล้วยไม้ช้างเล็กน้อย และควรปลูกในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เนื่องจากช่วงต้นฤดูฝนจะทำให้ต้นและรากเติบโตดี

เขาแกะ Rhynchostylis coelestis
เขาแกะมีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศไทย มักพบขึ้นในป่าโปร่งผลัดใบ ทั้งในภูมิภาคที่เป็นภูเขาและที่ราบ เป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวในสกุลช้างที่มีลักษณะช่อดอกตั้งขึ้น ใบมีลักษณะแบนคล้ายแวนด้า ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร และบางกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน โคนใบซ้อนกันเป็นแผง ใบโค้งสลับกันในทางตรงกันข้าม ด้วยลักษณะนี้เองจึงได้ชื่อว่า “เขาแกะ” ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีดอกแน่นช่อ ดอกมีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกทั้งกลีบนอกและกลีบในมีพื้นสีขาว มีแต้มสีม่วงครามที่ปลายกลีบทุกกลีบ ฐานของแผ่นปากและครึ่งหนึ่งของแผ่นปากที่ต่อกับฐานมีสีขาว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของแผ่นปากเป็นสีม่วงครามเช่นเดียวกับที่ปลายกลีบแต่สีเข้มกว่า ปากของเขาแกะคล้ายกับปากของไอยเรศ สีม่วงครามของเขาแกะบางต้นอาจมีสีต่างออกไป เช่น มีสีม่วงมากจนเกือบแดง เรียกว่า “เขาแกะแดง” บางต้นมีสีไปทางสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน บางต้นดอกมีสีขาวบริสุทธิ์ เรียกว่า “เขาแกะเผือก” ซึ่งค่อนข้างหาได้ยาก เดือยดอกยาวกว่าและแคบกว่าของไอยเรศ ปลายของเดือยดอกโค้งลง ดอกบานทนประมาณสองสัปดาห์ ฤดูออกดอกประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เขาแกะเป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย ทนแล้งได้ดี ชอบแสงแดดและอากาศถ่ายเทมากกว่าไอยเรศและช้าง อาจปลูกติดไว้กับต้นไม้ ท่อนไม้ หรือปลูกลงกระเช้าไม้ เนื่องจากปลูกเลี้ยงได้ง่าย ช่อดอกตั้ง สีของดอกเป็นสีม่วงครามหรือใกล้ไปทางสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีที่หาได้ยากในกล้วยไม้ทั่วๆ ไป จึงนิยมนำเขาแกะไปผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้ชนิดอื่นอีกหลายชนิดโดยเฉพาะกล้วยไม้ในสกุลใกล้เคียงกับกล้วยไม้สกุลแวนดา เพื่อพัฒนาเป็นกล้วยไม้ตัดดอกหรือเป็นกล้วยไม้ประเภทสวย

กุหลาบ


กล้วยไม้สกุลกุหลาบหรือเอื้องกุหลาบ เป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้าสกุลหนึ่ง มีปล้องสั้น ข้อถี่ ถ้าต้นยาวหรือสูงมากๆ จะห้อยย้อยลง แต่ส่วนปลายยอดจะงอนตั้งขึ้น ลักษณะใบจะแบน ช่อดอกมีทั้งช่อตั้ง ช่อโค้ง และช่อห้อย บางชนิดช่อดอกแตกแขนงได้ด้วย กลีบดอกชั้นนอกคู่ล่างมักจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่นๆ และกลีบคู่นี้จะเชื่อมติดกับฐานเส้าเกสร ปากมีบานพับ ส่วนใหญ่มีเดือยยาว และมักจะงอนยื่นออกมาทางด้านหน้า มีบางชนิดที่เดือยสั้น เส้าเกสรสั้นแต่ฐานของเส้าเกสรใหญ่ มีเรณู 2 ก้อน ดอกมักมีกลิ่น
กล้วยไม้สกุลกุหลาบพบในป่าธรรมชาติประมาณ 40 ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ในประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น

พวกเอื้องกุหลาบที่นิยมปลูกเลี้ยงกันทั่วไป เป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะและสีสันสวยงาม ปลูกเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตได้ดี สามารถขยายพันธุ์หรือผสมกับกล้วยไม้ในสกุลกุหลาบหรือสกุลอื่นๆ ได้ ตัวอย่างกล้วยไม้ในสกุลกุหลาบที่พบในประเทศไทย เช่น



1. มาลัยแดง (Aerides multiflora) เป็นเอื้องกุหลาบใบแบนแต่มีร่องใบลึก ผิวใบมันเล็กน้อย ใบหนา ดอกในช่อแน่น ช่อดอกเป็นพวงโค้งห้อยลง เวลาแทงช่อดอก ก้านช่อมักจะสอดอยู่ในร่องของใบ ทำให้ขาดความสวยงามเมื่อดอกบาน ดังนั้นเมื่อแทงช่อดอก ต้องงัด ดึงหรือดัดให้ช่อดอกออกมาจากร่องของใบ ปากของกุหลาบมาลัยแดงเป็นรูปหัวใจ กลีบดอกสีม่วงแดง ที่โคนกลีบมีขาวและสีจะเข้มขึ้นจนสุดที่ปลายกลีบ ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม





2. กุหลาบเอราวัณหรือกุหลาบน่าน (Aerides rosea ชื่อพ้อง Aerides fieldingii) ลักษณะดอกคล้ายมาลัยแดงมาก เดือยดอกสั้น ช่อดอกมีก้านส่งแข็ง แต่ส่วนช่อที่ติดดอกจะโค้งห้อยลง กลีบดอกสีขาว มีแต้มสีม่วงแดง ที่ปลายกลีบมีจุดสีม่วงแดงประปราย ปากสีม่วงแดง ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ใบจะบางและสั้นกว่ามาลัยแดง แต่ใบไม่มีร่องลึกเหมือนมาลัยแดง
















3. กุหลาบอินทจักร (Aerides flabellata) ลักษณะใบเรียงตัวซ้อนกันค่อนข้างแน่น แผ่นใบหนาและเหนียว ผิวใบแห้ง กุหลาบอินทจักรเป็นเอื้องกุหลาบช่อตั้ง ดอกในช่อโปร่ง มีเดื้อยดอกยาวเห็นได้ชัดและโค้งงอนสวยงาม กลีบเลี้ยง และกลีบดอกมีสีเขียวอมเหลืองและมีแต้มสีน้ำตาลอมม่วง ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม












4. กุหลาบแดง (Aerides crassifolia) เป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะสวยงาม มีใบสั้นแบนแต่หนา ช่อดอกเอนหรือโค้งลงยาวใกล้เคียงกับใบ ดอกในช่อโปร่ง สั้น ดอกมีสีม่วงแดง ดอกมีขนาดใหญ่กว่าเอื้องกุหลาบชนิดอื่นๆ ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม


5. กุหลาบกระเป๋าเปิด (Aerides falcata) เป็นกุหลาบที่เลี้ยงง่ายที่สุด เมื่อต้นสูงขึ้นจะห้อยหัวลง อาจยาวได้ถึง 1 เมตร และแตกแขนงเป็นกอใหญ่ๆ แผ่นใบค่อนข้างบางแต่เหนียว บิดพลิ้วเล็กน้อย ช่อดอกเป็นพวงห้อยลง พื้นกลีบดอกเป็นสีขาว มีแต้มสีม่วงอมชมพูที่ปลายกลีบ ออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เหมาะกับการปลูกติดต้นไม้ เมื่อออกดอกแต่ละต้นจะออกได้หลายช่อ ถ้าปลูกเป็นกอใหญ่ๆ จะสวยงามมาก





6. กุหลาบพวงชมพู (Aerides krabiensis) หรือกุหลาบกระบี่ พบครั้งแรกที่จังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงเกาะต่างๆ ทางภาคใต้ของไทย ต้นค่อนข้างผอมมักแตกเป็นกอ แผ่นใบเล็กค่อนข้างหนาและเรียงซ้อนกันถี่ ผิวใบมักจะมีจุดประสีม่วงแดง ช่อดอกตั้งเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ เดือยดอกสั้นมาก ปลายปากกว้างมน ดอกมีพื้นขาว มีจุดประสีม่วงแดง หรือชมพูเข้ม กลางแผ่นปากมีสีแดงเข้มคล้ายกุหลาบมาลัยแดง ออกดอกระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม